ประวัติความเป็นมา

๑. ความเป็นมาของการแบ่งกลุ่มจังหวัด

การบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดเป็นรูปแบบใหม่ของการบริหารงานแบบบูรณาการ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้นในรูปของการรวมกลุ่มจังหวัดที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงในด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยให้การวางกรอบทิศทางการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรเป็นไปอย่างมีระบบและร่วมกันแก้ไขปัญหาระหว่างจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๖ และวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ เห็นชอบให้จัดตั้งกลุ่มจังหวัดรวม ๑๙ กลุ่มจังหวัด การบริหารงานของกลุ่มจังหวัดในระยะเริ่มต้น พบปัญหาสำคัญ ๓ ประการคือ ๑. ปัญหาไม่มีงบประมาณในการบริหารงาน ๒. ขาดบุคลากร และ ๓.ไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับองค์กรรับผิดชอบ จึงให้การบริหารงานกลุ่มจังหวัดไม่บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งเป็นสำนักบริหาร ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด

๒. ผลการปรับปรุงการจัดกลุ่มจังหวัดและการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์การปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

๒.๑ ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  (๑) ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๓ กำหนดว่า เพื่อประโยชน์ในการประสานงานและความสะดวกในการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ให้ส่วนราชการปรับปรุงการกำหนดเขตพื้นที่ตรวจราชการให้สอดคล้องกับเขตตรวจราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี 
  (๒) คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๔๙ ได้พิจารณาว่า โดยที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการพัฒนาระบบราชการมาแล้วเป็นระยะเวลานานพอสมควรใน ๓ เรื่องหลัก คือ (๑) การปรับโครงสร้างระบบราชการ (๒) การจัดองค์กรการบริหารและ (๓) การนำเครื่องมือ/เทคนิคการบริหารจัดการและการประเมินผลมาใช้ จึงควรมีการประเมินผลการพัฒนาระบบราชการและดำเนินการของสำนักงาน ก.พ.ร. ที่ผ่านมา โดยให้ทุกกระทรวงส่งข้อมูลความเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้างต้นให้สำนักงาน ก.พ.ร. ภายใน ๑๕ วันแล้วให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประมวลผลเสนอรองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป 
  (๓) ก.พ.ร. ในการประชุมเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๙ รองนายกรัฐมนตรี (นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์) ประธาน ก.พ.ร. ได้มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. ประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างและระบบบริหารของส่วนราชการต่าง ๆ แล้ววิเคราะห์นำเสนอ ก.พ.ร. และคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป 
  (๔) จากข้อความคิดเห็นของส่วนราชการและจังหวัดที่สำนักงาน ก.พ.ร. ได้รับในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่วนราชการในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงราชการบริหารส่วนกลางที่ตั้งอยู่ในภูมิภาค มีประเด็นข้อเสนอ ว่าการจัดกลุ่มจังหวัดดังกล่าวไม่เหมาะสม ควรมีการทบทวนการจัดกลุ่มและการจัดจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัดใหม่ เพื่อให้เกิดศักยภาพและการพัฒนาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 
  (๕) พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติเรื่องการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของจังหวัดและอำเภอ จัดตั้งงบประมาณของจังหวัด จัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกำหนดให้มีคณะกรรมการธรรมาภิบาลจังหวัดโดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการของกลุ่มจังหวัด โดยสรุป คือ มาตรา ๕๒ วรรคสาม เพื่อประโยชน์ในการบริหารงานแบบบูรณาการในจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดให้จังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดยื่นคำขอจัดตั้งงบประมาณได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ในกรณีนี้ให้ถือว่าจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัดเป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มาตรา ๕๓/๑ ให้จังหวัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัด ในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามวรรคหนึ่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างหัวหน้าส่วนราชการที่มีสถานที่ตั้งทำการอยู่ในจังหวัดไม่ว่าจะเป็นการบริหารราชการส่วนภูมิภาคหรือการบริหารราชการส่วนกลาง และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมดในจังหวัด รวมทั้งผู้แทนภาคประชาสังคม และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามวรรคหนึ่ง จำนวนและวิธีการสรรหาผู้แทนภาคประชาสังคม และผู้แทนภาคธุรกิจเอกชนตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เมื่อประกาศใช้แผนพัฒนาจังหวัดแล้ว การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและการดำเนินกิจการของส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐทั้งปวงที่กระทำในพื้นที่จังหวัดต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดดังกล่าว ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ. …. ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๕๐

๒.๒ การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ

ในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ ๑๓/๒๕๕๐ วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๐ มีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงการจัดกลุ่มจังหวัดและการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด และการจัดตั้งกลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นกลไกในการดำเนินงานของกลุ่มจังหวัดโดยมีรายละเอียด ดังนี้

(๑) แนวทางการจัดกลุ่มจังหวัด

การปรับปรุงการจัดกลุ่มจังหวัดครั้งนี้คงใช้แนวทางเดิม แต่จะยึดลักษณะเขตพื้นที่ที่ติดต่อกันหรือเป็นการรวมกลุ่มจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่ติดต่อกันหรือต่อเนื่องกันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานหรือข้อพิจารณาเบื้องต้นของการจัดกลุ่มจังหวัดใช้ประเด็นยุทธศาสตร์ หรือทิศทางการพัฒนาจังหวัด ที่สอดคล้องกัน หรือเกื้อหนุนต่อกัน เป็นแนวการพิจารณาขั้นที่สอง และประการสุดท้ายพิจารณาจากความเกี่ยวเนื่องทางเศรษฐกิจ การผลิต การค้า และการลงทุนเพื่อมูลค่าเพิ่ม และการได้เปรียบในการแข่งขันร่วมกัน รวมทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมกันระหว่างจังหวัด สาเหตุที่ให้ความสำคัญกับการเป็นเขตพื้นที่ติดต่อกันนั้น มาจากสมมุติฐานที่ว่าจังหวัดที่อยู่พื้นที่ติดกัน จะมีลักษณะทางภูมิประเทศ ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม ใกล้เคียงกันมีการแบ่งตามลักษณะของพื้นที่เศรษฐกิจและสังคมที่มีความใกล้เคียงกัน มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ติดต่อกัน มีจุดอ่อน จุดแข็ง ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติที่คล้ายคลึงกัน จะทำให้ง่ายกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาให้บรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกันได้ นอกจากนั้นแล้วการที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกันจะมีปัญหาและความต้องการคล้าย ๆ กัน สะดวกในการประสานงานและบูรณาการการพัฒนาในกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(๒) แนวทางการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด

๑) การกำหนดให้มีจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดจะทำให้มีโครงสร้างองค์กรที่รับผิดชอบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดอย่างชัดเจน และเป็นผู้ใช้กลไกการบูณราการการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดในภาพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติโดยจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดจะเป็นแกนกลางในการประสานงานและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัด โดยเป็นที่ตั้งของสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด และเป็นหน่วยงานในการรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณหรือการทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 
๒) แนวทางในการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดต้องเป็นจังหวัดที่มีลักษณะสอดคล้องกับลักษณะข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่า ดังนี้ 
  (๑) เป็นจังหวัดที่มีการคมนาคม ติดต่อสื่อสารและเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในกลุ่มได้สะดวก 
  (๒) เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และสามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  (๓) เป็นศูนย์กลางทางสังคมและวัฒนธรรม หรือเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาที่สามารถสนับสนุนความรู้ทางวิชาการให้กับจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัดได้ 
  (๔) เป็นศูนย์กลางของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และธุรกิจต่างๆ 
  (๕) เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องแผนงาน งบประมาณ และทรัพยากรทางการบริหารให้กับจังหวัดอื่นในกลุ่มได้ 
๓) รูปแบบในการจัดกลุ่มจังหวัด จากแนวทางการปรับปรุงกลุ่มจังหวัดและการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด ประกอบกับการสอบทานข้อคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว จึงเห็นควรปรับปรุงการจัดกลุ่มจังหวัด เป็น ๑๘ กลุ่มจังหวัด พร้อมทั้งกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการของกลุ่มจังหวัด เพื่อเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ

๒.๓ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๑ เห็นชอบการปรับปรุงกลุ่มจังหวัด และการกำหนดจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัดตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ ดังนี้

กลุ่มจังหวัด จังหวัดในกลุ่ม จังหวัดที่เป็น ศูนย์ปฏิบัติการ กลุ่มจังหวัด
๑.ภาคกลางตอนบน ๑ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี พระนครศรีอยุธยา
๒.ภาคกลางตอนบน ๒ ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี
๓.ภาคกลางตอนกลาง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา
๔.ภาคกลางตอนล่าง ๑ กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรีสุพรรณบุรี นครปฐม
๕.ภาคกลางตอนล่าง ๒ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี
๖.ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี
๗.ภาคใต้ฝั่งอันดามัน ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ภูเก็ต
๘.ภาคใต้ชายแดน สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา
๙.ภาคตะวันออก จันทบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด ชลบุรี
๑๐ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ๑ หนองคาย เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู อุดรธานี
๑๑ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ๒ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร สกลนคร
๑๒ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น
๑๓ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๑ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี อุบลราชธานี
๑๔ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๒ สุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ นครราชสีมา
๑๕ ภาคเหนือตอนบน ๑ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่
๑๖ ภาคเหนือตอนบน ๒ น่าน พะเยา เชียงราย แพร่ เชียงราย
๑๗ ภาคเหนือตอนล่าง ๑ ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก
๑๘ ภาคเหนือตอนล่าง ๒ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี นครสวรรค์

ความเป็นมา

๑. ความเป็นมาของการจัดตั้งกลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด : OSM
(๑) แนวคิดของ Kaplan และ Norton

  Robert S. Kaplan และ David P. Norton ได้เสนอแนวความคิดในวารสาร Harvard Business Review เรื่อง The Office of Strategy Management เพื่ออธิบายถึงสาเหตุของความล้มเหลวในการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ โดยในองค์การส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๖๐-๙๐ มักประสบปัญหาความล้มเหลวในการบริหารยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่องค์การดังกล่าวมีรูปแบบการบริหารงานแบบแยกส่วน (fragmentation) มีขั้นตอนการทำงานที่ต่างคนต่างทำและต่างคนต่างรายงานตรงต่อผู้บังคับบัญชาตามสายบังคับบัญชาของตนเอง ทำให้เกิดปัญหาของการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติภายในองค์การและขาดความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันอย่างเป็นระบบ Robert S. Kaplan และ David P. Norton จึงได้ศึกษาวิจัยและเขียนหนังสือเรื่อง The Strategy-Focused Organization ขึ้น เพื่ออธิบายถึงความสำคัญของการยึดยุทธศาสตร์เป็นหลัก โดยใช้ยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางของระบบการบริหารจัดการและกระบวนการปฏิบัติงาน รวมถึงอธิบายวิธีการหรือแนวทางในการพัฒนาไปสู่องค์การที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ ซึ่งได้เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในระดับองค์การที่เรียกว่า “สำนักบริหารยุทธศาสตร์ The Office of Strategy Management หรือ OSM” เพื่อทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องการบริหารยุทธศาสตร์เป็นการเฉพาะ มีลักษณะเป็นหน่วยงานขนาดเล็ก คล่องตัวทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในระดับต่าง ๆ ขององค์การไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล ตลอดจนการส่งเสริมให้มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการนำยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติ และการประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำยุทธศาสตร์ขององค์การไปสู่การปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งแนวคิดและทฤษฎีดังกล่าวได้ถูกหน่วยงานภาครัฐนำไปใช้ประโยชน์ในเวลาต่อมา

(๒) จากแนวคิดของ Kaplan และ Norton

  ดังกล่าว สำนักงาน ก.พ.ร. และกระทรวงมหาดไทย จึงได้ร่วมหารือและเห็นร่วมกันที่จะให้มีสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด (OSM) เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติเป็นเจ้าภาพในการประสานยุทธศาสตร์แผนงาน/โครงการในระดับกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ประสานงานกับหน่วยงานอำนวยการระดับชาติได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงาน ก.พ. สำนักงบประมาณและ สศช.

๒. วัตถุประสงค์

การจัดตั้งกลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดในจังหวัดที่เป็นศูนย์ปฏิบัติการกลุ่มจังหวัด เพื่อเป็นเจ้าภาพในการประสานงานเพื่อเชื่อมโยงและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดไปสู่การปฏิบัติให้บังเกิดผลโดยทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของ คณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับกลุ่มจังหวัด

๓. บทบาทของกลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด

กลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด จะมีบทบาทหลักในการประสานและบูรณาการ ไม่มีอำนาจในการบริหารสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือกฎหมายอื่น โดยจะมีบทบาท ดังนี้ 
  ๑) เป็นเจ้าภาพในการประสานเพื่อเชื่อมโยงและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาของกลุ่มจังหวัด รวมทั้งการถ่ายทอดเป้าหมายระดับกลุ่มจังหวัดไปสู่เป้าหมายระดับจังหวัด 
  ๒) การบูรณาการแผนงาน โครงการ และงบประมาณของกลุ่มจังหวัด 
  ๓) การบริหารการวัดผลการดำเนินงาน 
  ๔) ส่งเสริมการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ เกี่ยวกับการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ 
  ๕) พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนภายในกลุ่มจังหวัด

๔. หน้าที่ของกลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด

  ๑) งานเลขานุการของคณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับกลุ่มจังหวัด (ก.พ.ก.) 
  ๒) ศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ประสานเชื่อมโยงกลยุทธ์ในระดับต่างๆ การบูรณาการแผนงานและงบประมาณ และการเป็นศูนย์กลางข้อมูลยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด 
  ๓) ติดตามประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดและรายงานต่อคณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณในระดับกลุ่มจังหวัด 
  ๔) ประสานงานระหว่างจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด รวมทั้งกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องในเรื่องการบูรณาการแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด กับแผนพัฒนาจังหวัด แผนปฏิบัติการของจังหวัด การสนับสนุนและผลักดันการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ และการติดตามผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด 
  ๕) จัดให้มีการประชุมหารือเพื่อการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด รวมทั้งการขอรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญๆ ที่มีผลกระทบต่อประชาชนและพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 
  ๖) จัดทำเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์ข้อมูล ความรู้และข่าวสารของกลุ่มจังหวัด 
  ๗) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ ก.พ.ก. มอบหมาย

๕. การจัดองค์กร

  ๑) คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑๑๐/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ ให้จัดตั้งสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดขึ้น 
  ๒) เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่รายงานตรงต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย และอยู่ในบังคับบัญชาของผู้ประสานกลุ่มจังหวัด

๖. การแบ่งงานภายในกลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด

  เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของกลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์ ได้แบ่งงานภายในออกเป็น ฝ่ายบริหารทั่วไป กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์ และกลุ่มติดตามและประเมินผล ดังนี้ 
๑) ฝ่ายบริหารทั่วไป รับผิดชอบงานบริหารภายในสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดที่เกี่ยวกับงานสารบรรณ งานบุคคล งานการเงินและพัสดุ งานด้านเลขานุการและการประชุม และการเผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความรู้ภายในกลุ่มจังหวัด 
๒) กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์ รับผิดชอบเกี่ยวกับ การศึกษาวิเคราะห์และเสนอแนะในการจัดทำและพัฒนากลุ่มจังหวัด การจัดทำงบประมาณ แผนงาน โครงการของกลุ่มจังหวัด ประสานและบูรณาการแผนงาน โครงการ งบประมาณ ของกลุ่มจังหวัด การพัฒนาฐานข้อมูลของกลุ่มจังหวัดและการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด 
๓) กลุ่มติดตามและประเมินผล รับผิดชอบเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด การติดตามการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามสัญญา และการให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามแผนพัฒนากลุ่มจงหวัด